Subscribe:

Ads 468x60px

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ขับรถทางไกลต้องเตรียมตัวอย่างไร

หากคุยกันถึงเรื่องการขับรถทางไกล ๆ แล้วมีคนสงสับว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้างเพื่อให้การเดินทางปลอดภัยราบรื่น หลัก ๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น เตรียมรถ(พาหนะ) เตรียมคม (ขับรถ)ถนนหนทางสมัยนี้ค่อนข้างกว้างขวางสะดวกสบาย ใครที่มีรถยนต์เป็นของตนเองก็คงไม่พ้นอยากจะหาโอกาสว่าง ๆ หรือวันหยุดตามเทศกาลต่าง ๆ ที่ติด ๆ กันหลาย ๆ วันขับรถเดินทางไปเที่ยวตามต่างจังหวัดทั้งไกลและใกล้กันบ้างแหละน่า

แต่ก่อนจะเดินทางเราควรจะสำรวจตรวจตรากันก่อนดีไหมครับว่าทำอย่างไรเราจึงจะเดินทางขับรถกันไกล ๆ โดยไม่มีอุปสรรคขัดข้องอันใดมาทำให้เสียฤกษ์เสียอารมณ์ (หรือบางครั้งอาจถึงเสียชีวิตและเลือดเนื้อ) ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าโดยหลักใหญ่ ๆ ก็หนีไม่พ้นการเตรียมพร้อมทั้งคนและรถนั่นเอง


การเตรียมพร้อมของคน (ขับรถ) ที่สำคัญ ๆ ก็คือ

เตรียมพร้อมเรียนรู้เส้นทางที่กำลังจะเดินทางไป การเรียนรู้เส้นทางจะช่วยให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น อาจไม่ต้องถึงกับรู้ทะลุปรุโปร่ง แต่อย่างน้อยควรจะรู้ว่าหากเดินทางไปทางเหนือควรจะออกนอกเมืองทางด้านไหน ขับไปบนถนนสายอะไร และจะต้องผ่านจังหวัดอะไรกันบ้าง การเรียนรู้เส้นทางนี้ก็ง่ายนิดเดียว หาแผนที่ของกรมทางหลวงฉบับปีปัจจุบันมากางดูสักหน่อย หรืออาจจะสอบถามจากเพื่อนฝูงที่เคยเดินทางไปในเส้นทางนั้น ๆ มาแล้ว (ยิ่งถ้าเพิ่งจะเดินทางสด ๆ ร้อน ๆ เลยยิ่งดีใหญ่ เพราะจะทำให้เราทราบถึงสภาพเส้นทางและถนนในปัจจุบันด้วย) เช่น ควรใช้เส้นทางใดจะสะดวกหรือปลอดภัยกว่า มีทางชำรุดตรงไหนบ้างหรือไม่ เหล่านี้เป็นรายละเอียดที่สำคัญสำหรับการเดินทางขับรถไปในที่ไกล ๆ ทั้งนั้นแหละ

การเตรียมพร้อมทางสภาพร่างกายของผู้ทำหน้าที่ขับรถก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ไม่ว่าเส้นทางจะไกลหรือใกล้เพียงใดการขับรถเป็นเวลานาน ๆ ร่างกายจะต้องได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ไม่ใช่ว่าจะเดินทางวันจันทร์ คืนวันอาทิตย์ยังเมาแอ๋ออยู่แถว ๆ RCA เลย ถ้าเป็นแบบนี้คงต้องสงสัยไว้ก่อนแหละว่าหนังสือพิมพ์วันจันทร์คงจะมีรูปนายคนนั้นอยู่เป็นที่แน่นอนแล้ว (ตรงนี้อยากให้ทุก ๆ ท่านพึงสังวรณ์ว่าหากสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์พร้อมแล้วมาขับรถยนต์ (ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้) ก็เท่ากับว่าเตรียมใจที่จะตายไปกว่าครึ่งแล้วและอาจเตรียมเผื่อคนรอบ ๆ ข้างอีกสักที่สองที่หรือเป็นสิบที่ก็ไม่แปลก) นอกจากนี้ แม่จะไม่เมาไม่ง่วงก็ต้องมีร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยเจ็บเป็นไข้หวัด หรือเป็นโรคปัจจุบันทันด่วน เช่น โรคหัวใจ หรือโรคลมต่าง ๆ ไม่มีอาการปวดศีรษะ สรุปว่าร่างกายต้องแข็งแรง สายตาต้องแจ่มใส (สั้นไม่เป็นไร) ทั้งนี้การขับรถทางไกลจะทำให้ร่างกายเกิดความเครียดและเมื่อยล้ามากบ้างน้อยบ้างตามแต่สถานการณ์ ที่ป่วยอยู่หรือใกล้จะป่วยอาจจะมา “ออกอาการ” เอายามนั้นก็ได้

อีกอย่างที่ต้องห้ามขาดคือ สุรายาดองของมึนเมาและสิ่งเสพติดทั้งหลาย อย่าได้ริเป็นอันขาดไม่ว่ากรณีได ๆ ถ้าท่านจะต้องขับรถ ไม่ว่าเจ้าสุราแก้วนั้นใครจะเป็นคนซื้อมาให้กินก็ขอให้ปฎิเสธไว้ก่อน เพราะผู้มีพระคุณท่านนั้นกำลังหยิบยื่นความฉิบหายมาให้ทั้งเราและผู้โดยสานในรถรวมทั้งคนในรถคันอื่น ๆ คิดดูดี ๆ คนเมาน่ะแม้จะเกินยังเดินเองไม่ไหว แล้วให้ไปขับรถที่มันมีความเร็วสูงกว่าเดิมตั้งเยอะ อย่างนี้ไม่ตายก็คงเลี้ยงไม่โต ถ้ายังอยากจะไปเที่ยวกันให้สนุกและกลับมาใช้ชีวิตต่ออย่างปลอดภัยล่ะ ก้อ เชื่อข้าน้อยเถอะ

นอกจากการเตรียมตัวที่ดีแล้ว การขับรถที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง (จะเป็นจะตายก็อยู่ตรงนี้ด้วยเหมือนกัน) อย่าใช้ความเร็วสูงมากรวมทั้งไม่ควรขับอยู่เลนขวาตลอดเพราะอาจจะมีรุที่วิ่งเร็วกว่าเราตามมา ที่สำคัญอาจโดนจับความเร็วหรือข้อหาวิ่นในเลนขวาเพราะเลนขวาของทางหลวงเขามีไว้สำหรับแซง อย่างไปถึงเต็ว ๆ ก็ออกเดินทางเร็ว ๆ เผื่อเวลาไว้สำหรับเจอรถติดหรืออุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งเวลาที่จะหยุดพักกินข้าวกินน้ำ เติมน้ำมันด้วย หากไม่เผือเวลาไว้ก็อาจจะต้องใช้ความเร็วสูงซึ่งอาจจะเกิดอุบัติเหตุแล้วยังเป็นการสะสมความเครียดให้กับทุกชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ด้วย นอกจากนี้ไม่ควรขับจี้ติดท้ายรถคันหน้ามากเกินไป ควรทิ้งระยะไว้บ้างเพื่อให้ทัศนวิสัยกว้างขั้น และสามารถตัดสินใจได้ทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อีกอย่างที่พึงคิดไว้บ่อย ๆ คือแม้จะเป็นเลนของเราแต่ถ้ามีรถเร็วกว่าต้องการแซงควรเปิดทางให้ ยิ่งถ้าเป็นรถในเลนสวนทางที่ห้อตะบึงมา หลบได้ขอให้หลบหลีกได้ก็ขอให้หลีก อย่ามัวคิดว่าเลนข้าใครอย่าแตะ อาจจะเหลือเป็นห่อ ๆ กลับบ้านก็ได้

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากที่สุดอีกอย่างคือปฏิบัติตามกฏจราจรอย่างเคร่งครัด มีผู้ขับรถเป็นจำนวนมากที่ปฏิบัติตามกฏจราจร (จล) อย่างเคร่งครัดเสียเหลือเกินเลยทำให้เกิดความวุ่นวายกับผู้คนอื่น ๆ ที่เขาร่วมใช้รถใช้ถนนกับท่านเหล่านั้นเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น

คนขับรถช้ากว่าคันอื่น (ไม่กลัวเต่ากัดล้อ) แต่ขอโทษทีเถอะ วิ่งอยู่เลนขวาสุดของถนนเลยแหละ

บางคนดูป้ายและสัญญาณกันไม่เป็น อ่านไม่ออกแปลไม่ได้ว่าเขาตั้งใจจะบอกว่าอะไรหรือห้ามอะไรหรือจะแนะนำอะไร (สันนิษฐานได้ว่าใบขับขี่นี้ไปซื้อมา) ตรงที่เขาห้างเลี้ยวหรือกลับรถเสียออกหน้าออกตา บางท่านตาบอดสีเห็นไฟแดงเป็นไฟเขียวเห็นไฟเหลืองก็เป็นไฟเขียว (อีกเหมือนกัน) แบบนี้ถ้าขับรถในเมืองอาจแค่บาดเจ็บหรือรถยับเยินนิดหน่อยแต่ถ้าเป็นทางต่างจังหวัด ขอโทษทีอาจจะดูไม่ออกว่าเป็นซากรถอะไร

นอกจากนี้ถ้าสังเกตป้ายข้างทางจะมีบอกไว้เมื่อวิ่งผ่านเขตชุมชนหรือเขตโรงรียน ขอให้ลดความเร็วลงด้วย แต่บางท่านคงเป็นลูกครึ่งอ่านภาษาไทยไม่ค่อยออกก็เลยยิ่งกดคันเร่งเพิ่มความเร็วเข้าไปอีก (ให้มันรู้กันไปเลย) และยังมีอีกหลาย ๆ ตัวอย่างซึ่งถ้าจะให้เขียนทั้งหมดคงต้องใช้เวลาเป็นปีกับกระดาษอีกเยอะแยะ จึงอยากจะสรุปสำหรับประเด็นนี้ว่า จงเคารพกฏจราจร (ไม่ใช่เคารพกฏจลาจล) ก็จะก่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางไปในทุกที่และทุกเวลา

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

นโยบายรถคันแรก

มาตรการภาษีรถยนต์คันแรกที่กระทรวงการคลังเสนอ มีรายละเอียดของการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้


หลักเกณฑ์การคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกที่สำคัญ ดังนี้คือ ต้องเป็น
1. เป็นรถยนต์คันแรกของผู้ซื้อที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555
2. เป็นรถยนต์ราคาขายปลีกไม่เกิน 1,000,000 บาท/คัน
3. เป็นรถยนต์นั่ง ขนาดความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร/รถยนต์กระบะ (Pick up)/รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Double Cab)
4. เป็นรถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ ไม่รวมถึงรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนนำเข้าใช้แล้วจากต่างประเทศ (รถยนต์จดประกอบ)
5. คืนเงินเท่ากับค่าภาษีตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/คัน
6. ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
7. ผู้ซื้อต้องครอบครองรถยนต์ไม่น้อยกว่า 5 ปี และ
8. การคืนเงินจะคืนให้เมื่อครอบครองรถยนต์ 1 ปี ไปแล้ว (เริ่มจ่ายคืนให้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป)

ส่วนวิธีการดำเนินงานนั้นกำหนดให้
1. ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ต้องยื่นคำขอคืนเงินกับกรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ พร้อมเอกสารหลักฐาน ดังนี้ หนังสือยินยอมสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปี สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ซื้อ สำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ (ในกรณีเช่าซื้อ)
2. กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่มีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก หรือสำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อขอให้ตรวจสอบการครอบครองรถยนต์คันแรก และแจ้งการสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปีของผู้ซื้อ
3. กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัดตรวจสอบและบันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ลงในระบบคอมพิวเตอร์และในสมุดคู่มือการจดทะเบียน
4. กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัด ส่งหนังสือรับรองการครอบครองรถยนต์คันแรก และสำเนาคู่มือการจดทะเบียนที่บันทึก “ห้ามโอนภายใน 5 ปี” ให้กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ และ
5. กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป.